ของไหว้ตรุษจีน “เทศกาลตรุษจีน” วันสำคัญของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน ที่เป็นเสมือนวันขึ้นปีใหม่ของจีนนั่นเอง โดย ตรุษจีน 2564 ตรงกับวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึ่งในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ก่อนวันตรุษจีน หรือ วันขึ้นปีใหม่ 1 วัน จะมีพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยอาหารคาวหวานนานับชนิด และในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ คือวันจับจ่ายซื้อของ
ว่าแต่ของไหว้ตรุษจีนมีอะไรบ้างล่ะ ใครกำลังอยากรู้ว่า จัดของไหว้ตรุษจีน ต้องใช้อะไรบ้าง กระปุกดอทคอม มีคำตอบมาบอกค่ะ
ของไหว้ตรุษจีน ของใช้ในวันตรุษจีน มีอะไรบ้าง
สำหรับในวันตรุษจีนนั้น จะมีการเตรียมของไหว้อย่างพิถีพิถัน แบ่งเป็นเนื้อสัตว์ ผลไม้ ขนมหวาน กับข้าวคาว กับข้าวเจ อย่างละ 3 หรือ 5 ชนิด พร้อมสุรา น้ำชา ข้าวสวย และกระดาษเงิน-กระดาษทองประเภทต่าง ๆ โดยจะจัดเรียงตามลำดับความสำคัญตามชนิดของอาหาร ซึ่งจะมีเสียงเรียกพ้องกับเสียงของคำมงคล และผลไม้ที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะไหว้ก็คือ ส้มมหามงคลสีทอง ที่ชาวจีนเรียกว่าส้มไต่กิก เพราะมีความหมายถึงความสวัสดีมงคลอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ “วันไหว้” จะทำกันในวันสิ้นปี ซึ่งปกติมีการไหว้ 3-4 ชุด เริ่มจาก “ไหว้เจ้าที่” ในช่วงเช้าด้วยชุดซาแซ คือ หมู เป็ด ไก่ ที่อาจเปลี่ยนเป็นไข่ย้อมสีแดงได้ ขนมเทียน และขนมถ้วยฟู หรือขนมอื่น ๆ ผลไม้ไหว้มีส้มสีทอง องุ่น แอปเปิล พร้อมกับกระดาษเงิน-กระดาษทอง
ต่อด้วยช่วงสาย ๆ ไม่เกินเที่ยง “ไหว้บรรพบุรุษ” เครื่องไหว้จะประกอบด้วยชุดซาแซ อาหารคาวหวาน ส่วนมากก็ทำตามที่ผู้ล่วงลับไปแล้วชอบ เต็มที่จะมี 10 อย่าง นิยมว่าต้องมีน้ำแกง เพื่ออวยพรให้ชีวิตราบรื่น และกับข้าวเลือกที่มีความหมายมงคล ส่วนขนมไหว้บรรพบุรษต่าง ๆ ก็มีความหมายมงคลเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากไหว้บรรพบุรุษแล้ว ช่วงเที่ยงหรือบ่ายก็จะไหว้ผีไม่มีญาติ จากนั้นก็เป็นช่วงกลางดึกของคืนวันสิ้นปีย่างเข้าตรุษจีนที่จะมีการไหว้ไฉ่ซิงเอี้ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ โดยให้หันโต๊ะไหว้ไปทางทิศตะวันตก ทั้งนี้ ชาวจีนจะเตรียมจัดของไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภอย่างพิถีพิถัน เพราะในช่วงเวลาที่กำลังจะเข้าวันตรุษจีน โลกกำลังหมุนไปทางทิศนี้ แล้วเมื่อย่างเข้าวันปีใหม่จีนหรือวันตรุษจีน ก็ยังนิยมไปไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่ โดยจะนำส้มสีทองจำนวน 4 ใบ ไปมอบให้ด้วยเสมือนนำโชคดีไปให้ เพราะเสียงไปพ้องกับคำว่าทอง ในภาษาจีนแต้จิ๋ว
ทั้งนี้ สำหรับความหมายของ “ของไหว้วันตรุษจีน” ได้แก่…
ความหมายของผลไม้ที่ใช้ในวันตรุษจีน
– กล้วย หมายถึง กวักโชคลาภเข้ามา และขอให้มีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
– แอปเปิล หมายถึง ความสันติสุข สันติภาพ
– สาลี่ หมายถึง โชคลาภมาถึง (ควรระวังไม่นิยมไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ)
– ส้มสีทอง หมายถึง ความสวัสดีมหามงคล
– องุ่น หมายถึง ความเพิ่มพูน
– สับปะรด คำจีนเรียกว่า “อั่งไล้” แปลว่า มีโชคมาหา
ความหมายของอาหารไหว้วันตรุษจีน
– ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ยศ และความขยันขันแข็ง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องเป็นไก่เต็มตัว หมายถึง มีหัว ตัว ขา ปีก มีความหมายถึง ความสมบูรณ์
– เป็ด หมายถึง สิ่งบริสุทธิ์ ความสะอาด ความสามารถอันหลากหลาย
– ปลา หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ อุดมสมบูรณ์
– หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้
– ปลาหมึก หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ (เหมือนปลา)
– บะหมี่ยาวหรือหมี่ซั่ว หรือฉางโซ่วเมี่ยน ตามชื่อหมายถึง อายุยืนยาว
– เม็ดบัว หมายถึง การมีบุตรชายจำนวนมาก
– ถั่วตัด หมายถึง แท่งเงิน
– สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย
– หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ร่ำรวยผาสุก
สิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง คือ เต้าหู้ขาว เนื่องจากสีขาว คือ สีสำหรับงานโศกเศร้า
ความหมายของขนมไหว้วันตรุษจีน
– ขนมเข่ง คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์
– ขนมเทียน คือ ขนมที่ปรับปรุงขึ้นจากชาวจีนโพ้นแผ่นดินดัดแปลงมาจากขนมท้องถิ่นของไทย จากขนมใส่ไส้เปลี่ยนจากแป้งข้าวเจ้าผสมกะทิมาเป็นแป้งข้าวเหนียวแทน มีความหมายว่า หวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
– ขนมไข่ คือ ความเจริญเติบโต
– ขนมถ้วยฟู คือ ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู
– ขนมสาลี่ คือ รุ่งเรือง เฟื่องฟู
– ซาลาเปา หรือ หมั่นโถว คือ ไหว้เพื่อให้เปาไช้ แปลว่า ห่อโชค โดย หมั่นโถว มีแบบที่ทำจากหัวมัน เนื้อออกสีเหลือง และแบบไม่ผสมมัน เนื้อออกสีขาว นิยมทำให้แตกเหมือนดอกไม้บาน ถ้าลูกเล็กจะแต้มจุดแดง ลูกใหญ่จะปั๊มตัวหนังสือสีแดง เขียนว่า ฮก แปลว่า โชคดี ส่วนถ้ามีไส้ เรียก “ซาลาเปา” นิยมไส้เต้าซา แป้งไม่ผสมมัน หน้าไม่แตก มีตัวหนังสือปั๊มว่า เฮง แปลว่า โชคดี
นอกจากนี้ยังมี ซิ่วท้อ เป็นซาลาเปาพิเศษ ทำเป็นรูปลูกท้อ ไส้เต้าซา เพราะถือว่าเป็นผลไม้สวรรค์ ใช้ในงานวันเกิด ใครได้กินอายุจะยืนยาว
– จันอับ (จั๋งอั๊บ) หมายถึง ปิ่นโต หมายถึงความหวานที่เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป ใช้ไหว้เจ้าได้ทุกประเภท ประกอบด้วยขนม 5 อย่าง คือ เต้ายิ้งปัง คือ ขนมถั่วตัด, มั่วปัง คือ ขนมงาตัด, ซกซา คือ ถั่วเคลือบน้ำตาล, กวยแฉะ คือ ฟักเชื่อม และโหงวจ๊งปัง คือ ขนมข้าวพอง
กระดาษเงิน กระดาษทอง
นอกจากอาหารคาวหวานแล้ว ในการไหว้ตรุษจีนนั้น จะต้องมีการเตรียมกระดาษเงิน-กระดาษทอง สำหรับใช้ไหว้ด้วย เพราะคนจีนเชื่อกันว่า เมื่อตายไปแล้วจะไปยังอีกภพโลกหนึ่ง เรียกว่า “อิมกัง” ลูกหลานจึงต้องส่งเงินทองด้วยการเผากระดาษเงิน-กระดาษทองไปให้บรรพบุรุษได้ใช้ เพื่อแสดงความกตัญญู ซึ่งกระดาษเงิน-กระดาษทองมีทั้งแบบที่ใช้ไหว้เจ้า และแบบที่ใช้ไหว้บรรพบุรุษ คือ
– กอจี๊ หรือ จี๊จุ้ย เป็นกระดาษเงิน-กระดาษทองชิ้นใหญ่ มีกระดาษแดงตัดเป็นลายตัวหนังสือว่า “เผ่งอัน” เป็นคำอวยพร แปลว่า โชคดี ใช้สำหรับไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน
– กิมจั้ว หรือ งึ้งจั๊ว หมายถึงกระดาษเงิน-กระดาษทอง เวลาจะไหว้จะทำเป็นชุด ก่อนไหว้ลูกหลานต้องนำมาพับเป็นรูปดอกไม้ ใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง
– กิมเต้า หรือ งึ้งเต้า หรือถังเงินถังทอง ใช้ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพยดาฟ้าดิน
– กิมเตี๊ยว คือ แท่งทอง ใช้ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้คนตาย
– ค้อซี คือ กระดาษทอง ก่อนใช้ให้พับเป็นรูปร่างก่อน เช่น พับเป็นเรือ เรียกว่า “เคี้ยวเท่าซี” เชื่อกันว่าการพับเรือ จะได้มูลค่าสูงกว่าการพับอย่างอื่น ใช้ไหว้ได้ทุกอย่าง รวมทั้งไหว้คนตาย โดยเฉพาะพิธีทำกงเต๊ก ลูกหลานต้องพับค้อซี ให้มากที่สุด
– อิมกังจัวยี่ คือ แบงก์กงเต๊ก
– อ่วงแซจิ่ว ใช้เผาเป็นใบเบิกทางไปสวรรค์สำหรับผู้ตาย
– เพ้า คือ ชุดของเทพเจ้า คล้ายกับที่คนไทยถวายผ้าห่มพระพุทธรูป มีการทำของเจ้าหลายองค์ เช่น ชุดของเจ้าแม่กวนอิม เจ้าแม่ทับทิม พระพุทธ
– ตั้วกิม เป็นกระดาษเงิน-กระดาษทองที่ญาติสนิทนำไปไหว้ผู้ตาย การเผากระดาษเงิน-กระดาษทองจะต้องทิ้งไว้สักพัก เพื่อให้ทุกคนได้เซ่นไหว้เสร็จ ก็จะทำการ “เหี่ยม” หรือจบเหนือศีรษะ ระหว่างนี้ให้ทำการอธิษฐานขอพรไปด้วย แล้วจึงนำไปเผา เมื่อไฟมอดแล้วจึงไหว้ลา เป็นการเสร็จพิธี
สรุป
ถึงแม้เทศกาลตรุษจีนจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ จึงต้องพิถีพิถันใส่ใจรายละเอียด เพื่อที่จะได้มีสิ่งดีๆเข้ามา ยังไงก็ขอเฮง เฮง เฮง กันทุกคนนะคะ
ที่มา: health.kapook
¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨ ¨
ติดตามทุกความเคลื่อนไหวของตัวเลข
** เลขมงคลรายวัน – ศาสตร์เลขมงคล – แนะเลขมงคล – เลขความฝัน – ตรวจเลข **
ที่นี่ lekmongkol.com
∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴